วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ฟ้อน "เจิง" ศิลปะการต่อสู้ล้านนา




ฟ้อนเจิง    เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยทางภาค เหนือที่นำเอาเรื่องราวของศิลปะป้องกันตัว  ซึ่งเมื่อครั้งอดีต ผู้ชายชาวล้านนามักจะมีการแสวงหาเรียนรู้ “เจิง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง  ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน  ซึ่งสลับท่าทาง ไปมา  ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง ลีลาการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย มีการต่อสู้ทั้งรุกและรับ  หลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ประลองไหวพริบปฏิภาณกัน  เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิง  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ไม่ข่มเหงเอาเปรียบกัน ฟ้อนเจิง  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภทใหญ่ๆ (สนั่น  ธรรมธิ, ๒๕๓๗) คือ
  •    ฟ้อนเจิงมือเปล่า
  •    ฟ้อนเจิงที่ใช้อาวุธ เช่น เจิงหอก เจิงดาบ เจิงไม้ค้อน เป็นต้น

 ทีนี้ก็จะเข้าสู่ความหมายของคำว่า "เจิง" ซึ่งก็มีความหมายคือ ชั้นเชิงในการต่อสู้นั่นเอง เพราะการออกเสียงของชาวล้านนานั้น ตัว "ช" จะออกเสียงเป็น "จ" เช่น ช้าง เป็น จ๊าง ,ชัก เป็น จั๊ก และก็ เชิง ก็เป็น "เจิง" นั่นเอง เจิง หรือ ชั้นเชิงในการต่อสู้ของชาวล้านนานั้น ก็มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเรียกชื่อตามอาวุธที่ใช้ เจิงมือเปล่า เจิงหอก เจิงดาบ เจิงง้าว เจิงไม้ค้อนสองหัว


การเรียนเจิงนั้น อ.สนั่น  ธรรมธิ ได้กล่าวไว้ว่า ผู้เรียนต้องหามื้อจั๋นวันดี เป็นวันอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันตั้งหรือ การจัดเครื่องคารวะ คือกรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา  ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด ครูบางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัว ครูเจิงคือผู้สอนฟ้อนเจิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วเชือดคอไก่ และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็คือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน หรือครูบางท่านก็อาจมอบมีดคมๆให้ผู้ที่จะมาเรียนคนละเล่ม แล้วพาไปในป่า รกชัฏ เพื่อดูอุปนิสัยของแต่ละคนว่ามีความอดทนมากน้อยแค่ไหน เหมาะที่จะสอนหรือไม่ เป็นต้น



แต่เดิมเราสามารถพบเห็นการฟ้อนเจิงในงานประเพณีต่างๆ ของภาคเหนือ ซึ่งบรรดาผู้ฟ้อน (ชาย) ได้เดินทางมาพบปะกันในงานทำบุญ  ก็จะฟ้อนกันตามจังหวะกลองที่มีอยู่  หรือสามารถหาได้ในพื้นที่ เช่น กลองแซะ กลองปู่เจ่  กลองไชยมงคล  กลองสิ้งหม้อง  กลองก้นยาว  เป็นต้น พ่อครูคำ  กาไวย์ บอกกับผู้เขียน (สัมภาษณ์ ๑๑ ตค ๕๒) ว่า  “ฟ้อนเจิง” มักจะฟ้อนในงาน “บวชลูกแก้ว” (บวชเณรน้อย) เป็นส่วนใหญ่ เพราะงานบวชลูกแก้ว มีแต่คนคุ้นเคยรู้จักกัน ชวนกันฟ้อนเจิงด้วยความสนุกสนาน (ฟ้อนเอาม่วน!)  รับรองไม่มีเรื่องหมางใจกัน เพราะเป็นญาติๆ ของลูกแก้ว (เณรน้อย) ทั้งนั้น  แต่งานอื่นๆ เช่น งานปอยหลวง  ฯลฯ ไม่ฟ้อนเจิงกัน เพราะต่างคนต่างมาจากหลายหมู่บ้าน ไม่รู้จักคุ้นเคยกัน ถ้าสะกิดกันออกมาฟ้อนเจิง คงจะต้องมีการชกกันหัวร้างข้างแตกกันบ้าง เพราะ “อวดเชิงกัน” หรือ “ข่มเชิงกัน”  น่าหมั่นไส้  ดังนั้น ฟ้อนเจิง  จึงมักฟ้อนในหมู่คนสนิทๆ และรู้จักกันเท่านั้น      การฟ้อนเจิงมือเปล่า        ผู้ฟ้อนจะเคลื่อนไหว ยกย้าย อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไปตามท่วงทำนองเพลงของกลอง  โดยแม่ท่าและลวดลายต่างๆ มาจากศิลปะการต่อสู้ เจิงดาบ เจิงหอก ฯลฯ ท่าร่ายรำจะถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษและครูผู้สอนที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ความคิดและประสบการณ์ของครูแต่ละสำนัก



3 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาน่าสนใจมากค่า. แต่อยากให้แบ่งเป็นหลายๆบทความจ้า

    ตอบลบ
  2. เนื้อหาดีและน่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องนี้มากคะ

    ตอบลบ